ตาล ๒

Borassus flabellifer L.

ชื่ออื่น ๆ
ตะนอด, ทะเนาด์ (เขมร); ตาลโตนด, ตาลใหญ่ (กลาง); ถาล, ทอถู (แม่ฮ่องสอน); ท้าง (เชียงใหม่, ตาก); โหนด
ปาล์มลำต้นเดี่ยว ลำต้นสีเทา เกลี้ยงหรือมีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือแกมขนนก ปลายแยกเป็นแฉกลึกตามแนวรัศมีถึงกึ่งกลางใบ ขอบมีหนามสีดำแบนคล้ายซี่ฟันกระจายไม่สม่ำเสมอ ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อเชิงลด ดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่ รูปทรงกลม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ผนังผลชั้นนอกเรียบ ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย ผลอ่อนสีฟ้าอมเทา สุกสีดำ เมล็ดแบน รูปกลม มีเกราะแข็งหุ้ม มี ๓ เมล็ด

ตาลชนิดนี้เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นสีเทา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๕-๓๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มี ๔๐-๕๐ ใบ รูปมือแกมขนนก กว้าง ๑.๒-๑.๘ ม. ยาว ๐.๖-๑.๑ ม. ปลายแยกเป็นแฉกลึกตามแนวรัศมีถึงกึ่งกลางใบ แต่ละแฉกพับจีบไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง มีเส้นแขนงใบ ๖๐-๖๕ เส้น เส้นใบย่อยจำนวนมาก ขนานกับเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ม. แข็ง ด้านบนส่วนปลายแบน ส่วนโคนเป็นร่อง ขอบมีหนามสีดำแบนคล้ายซี่ฟันกระจายไม่สม่ำเสมอ นูนเด่นชัดทางด้านล่าง กาบใบรูปสามเหลี่ยม ขอบเป็นเส้นใยสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียออกไม่พร้อมกัน ช่อดอกออกจากโคนสู่ปลายแล้วต้นไม่ตาย ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง มี ๕-๗ ช่อ ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด ๒-๓ ช่อ ยาว ๓๕-๕๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕๐-๖๐ ซม. แกนกลางยาว ๔๐-๕๐ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยเป็นกาบ หนาแข็ง เรียงเวียนซ้อนเหลื่อมหนาแน่น โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายเป็นรูปปากแตรสั้น มีสัน ๒ สัน แต่ละใบประดับย่อยรองรับดอก ๔-๗ ดอก แต่ละดอกยาว ๕-๗ มม. ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นก้านยาว ปลายแยกเป็น ๓ แฉก สั้น ปลายมน มีสันทางด้านบน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น รูปสามเหลี่ยม อับเรณูติดที่ด้านหลัง แตกตามยาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อเชิงลดหรือพบน้อยมากที่มีช่อแยกแขนง ก้านช่อดอกยาว ๔๐-๕๐ ซม. แกนกลางยาว ๒๐-๘๕ ซม. มีใบประดับย่อย ๒ ใบ เรียงซ้อนเหลื่อมทางด้านข้างคล้ายรูปถ้วย ดอกเพศเมียขนาดใหญ่ รูปทรงกลม ยาว ๒.๘-๓.๒ ซม. มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปสามเหลี่ยม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ตั้งตรง ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปครึ่งวงกลม ยอดเกสรเพศเมียปลายเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๘-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม. ผนังผลชั้นนอกเรียบ ผนังผลชั้นกลางเป็นเส้นใย เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอม ผนังผลชั้นในแข็ง ผลอ่อนสีฟ้าอมเทา สุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกติดทน เมล็ดแบน รูปกลม มีร่องตามยาว ๑ ร่อง มีเกราะแข็งหุ้ม มี ๓ เมล็ด


 ตาลชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วทุกภาค พบตามพื้นที่ชนบท บริเวณทุ่งนา และพื้นที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ในต่างประเทศมีการปลูกเป็นบริเวณกว้างแถบอินเดียไปจนถึงทางตะวันออกของหมู่เกาะซุนดาของอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ลำต้นส่วนโคนนำมาขุดเป็นเรือเรียกว่า เรืออีโปง เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างและทำเครื่องมือหัตถกรรมต่าง ๆ เนื่องจากมีสีและลวดลายสวยงาม เช่น ไม้เท้า เก้าอี้ โต๊ะ ด้ามร่ม สาก กรอบรูป ใบนำมาจักสาน เช่น ตะกร้า หมวก เสื่อ กระเป๋า พัด ช่อดอกเพศผู้ (งวง) และช่อดอกเพศเมีย (จั่นหรือปลี) ใช้ทำน้ำตาลได้ โดยการนวดงวงหรือจั่นเบา ๆ แล้วใช้มีดปาดที่ปลายช่อดอก จากนั้นจึงนำภาชนะมารองรับน้ำหวาน หรือน้ำตาลสด สามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊บโดยการเคี่ยวให้งวด หรือนำไปหมักเป็นน้ำตาลเมา หรือน้ำส้มสายชู ผลอ่อนนำมาทำอาหาร เมล็ดลูกตาลอ่อนใช้รับประทานสด ใบเลี้ยงส่วนที่งอก (จาวตาล) นำไปเชื่อมหรือใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยต่าง ๆ เนื้อจากผนังผลชั้นกลางเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้มและมีกลิ่นหอม นำมาทำขนมตาล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาล ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Borassus flabellifer L.
ชื่อสกุล
Borassus
คำระบุชนิด
flabellifer
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ตะนอด, ทะเนาด์ (เขมร); ตาลโตนด, ตาลใหญ่ (กลาง); ถาล, ทอถู (แม่ฮ่องสอน); ท้าง (เชียงใหม่, ตาก); โหนด
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนายคุณานนต์ ดาวนุไร